ประวัติโรงเรียน
โรงเรียนเทศบาล ๑ (ทุ่งฟ้าบดราษฎร์บำรุง) สังกัดเทศบาลตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมชื่อโรงเรียนทุ่งฟ้าบดราษฎร์บำรุง ได้เริ่มจับจองที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารเรียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยการนำของนายอำเภอสันป่าตอง นายวัฒนา มุสิกโปดก เป็นผู้ริเริ่ม พร้อมกับศึกษาธิการอำเภอ มีเนื้อที่ทั้งหมด ตามหลักฐานของที่ราชพัสดุ ลำดับที่ ๒๕ แปลงที่ ชม. ๑๐๕๖ จำนวนเนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๒ งาน ๑๖ ตารางวา
ได้เริ่มเข้าถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการศึกษาประชาบาลตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ทำการปลูกสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนและในปีเดียวกันได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้น เป็นอาคารถาวร สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๘๒ และได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๔
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียน และ คณะกรรมการศึกษาได้ช่วยกันบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างโรงอาหารของโรงเรียน ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๐ เมตร โดยลงมือก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๗ และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐ รวมจำนวนเงิน ค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๓๐,๖๗๙ บาท ทั้งนี้ ทางสุขาภิบาลบ้านกลางได้สนับสนุนงบประมาณเป็นจำนวนเงิน ๑๒,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จำนวน ๒๒๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนแบบ ป.๑ ก. ตึก ๔ ห้องเรียน พร้อมส้วมอีก ๑ หลัง จำนวน ๖ ที่นั่ง เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐ และทำการเปิดป้ายอาคารเรียนเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐
ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โรงเรียนได้เปิดขยายชั้นเรียนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ จึงได้ขอความร่วมมือกับคณะกรรมการศึกษาของโรงเรียน คณะผู้ปกครองและประชาชนในหมู่บ้าน ร่วมกันบริจาคเงินสร้างอาคารเรียน แบบ ป.๑ ก. ๒ ห้องเรียน จำนวน ๑ หลัง รวมงบประมาณทั้งสิ้น ๘๗,๖๙๐ บาท โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากทางราชการ และสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๕
ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จำนวน ๑๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ แบบ สปช.๒๐๒/๒๕๒๖ จำนวน ๑ หลัง ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘
ปี พ.ศ.๒๕๒๙ ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากประชาชนในหมู่บ้าน ร่วมกันบริจาคเงินสร้างแท็งก์น้ำเพื่อจัดทำประปาใช้ในโรงเรียนโดยสร้างแท็งก์น้ำสูง ๑๐ เมตร ฐานกว้าง ๔ X ๔ เมตร จุน้ำ ๑๑ คิวบิคเมตร บ่อบาดาลลึก ๙๓ เมตร รวมเงินทุนในการก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น ๕๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการเลย
ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ โรงเรียนได้รับงบประมาณ จำนวน ๑,๖๕๖,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างอาคารเรียน แบบ ๑๐๕ / ๒๕๒๙ ขนาด ๔ ห้องเรียน ใต้ถุนสูง โดยเริ่มทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และสัญญาสิ้นสุดลงเมื่อ วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากทางราชการ เพื่อจัดทำโรงเรียนให้เป็นปัจจุบัน จำนวน ๙๑,๐๘๓ บาท และได้รับงบประมาณเพื่อปรับปรุงห้องพิเศษ จำนวน ๓ ห้องเรียน คือ
๑. ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ จำนวนเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท
๒. ห้องปฏิบัติการทางภาษา จำนวนเงิน ๔๕,๐๐๐ บาท
๓. ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จำนวนเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท
ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการโรงเรียน ซึ่งนำโดย คุณสมบูรณ์ กุยด้วง ประธานคณะกรรมการโรงเรียน ร่วมกับคณะครู ผู้ปกครองนักเรียน ได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็ก ยาว ๑๕๐ เมตร สูง ๑.๘๐ เมตร พร้อมกับประตูทั้ง ๒ ข้าง รวมจำนวนเงินค่าก่อสร้างทั้งสิ้น ๒๐๒,๐๐๐ บาท โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการเลย
ต่อมาปีงบประมาณ ๒๕๔๒ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากทางราชการจำนวน ๒๗๐,๑๕๙ บาท เพื่อต่อเติมอาคารเรียนชั้นล่างของอาคาร สปช.๑๐๕ / ๒๕๒๙ จำนวน ๓ ห้องเรียน สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒ โรงเรียนได้ประสบอุบัติภัยจากเหตุการณ์โรงงานลำไยระเบิด เนื่องจาก สารโพแทสเซียมคลอเรต ซึ่งโรงงานดังกล่าวอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ ๕๐๐ เมตร ทำให้อาคารเรียน แบบ สปช ๑๐๕ / ๒๕๒๙ อาคาร ป.๑ก. ๒ ห้องเรียน อาคาร ป.๑ก. ๔ ห้อง และอาคารอเนกประสงค์ได้รับความเสียหาย และโรงเรียนได้รับงบประมาณการซ่อมแซมจากหน่วยงานต้นสังกัด จำนวน ๓๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อมาทำการซ่อมแซม และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓
ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากทางราชการ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อจัดสร้างลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน ๑ แห่ง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๓
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๔ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน
นำโดย คุณสมบูรณ์ กุยด้วง ประธานคณะกรรมการ ได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน ๕ เครื่อง ให้กับทางโรงเรียน เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนต่อไป ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น ๗๘,๐๐๐ บาท ( เจ็ดหมื่นแปดพันบาทถ้วน ) ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ คณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน ได้ร่วมกับคณะผู้ปกครองนักเรียนและศิษย์เก่าของโรงเรียน ได้ทำการจัดงานคืนสู่เหย้าศิษย์เก่าของโรงเรียน เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๓
ปีงบประมาณ ๒๕๔๔ ได้รับงบประมาณซ่อมแซมอาคารโรงอาหาร จำนวน ๓๖,๐๐๐ บาท โดยเปลี่ยนหลังคาจากสังกะสีเป็นกระเบื้องลอนคู่ โดยคณะกรรมการโรงเรียน คณะครูและผู้ปกครองนักเรียนได้จัดหาเงินมาสมทบในครั้งนี้อีกจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งได้ทำการยกระดับหลังคาให้สูงขึ้น จัดทำแผงเหล็กรอบอาคาร และประตูเข้า – ออก ๔ บาน
ปีงบประมาณ ๒๕๔๕ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากทางราชการในการจัดสร้างส้วม จำนวน ๑ หลัง ๒ ห้อง เงินงบประมาณ ๖๐,๐๐๐ บาท ได้รับงบประมาณจัดสร้างลานกีฬาอเนกประสงค์ จำนวน ๑ แห่ง เงินงบประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๔๕ โรงเรียนได้รับความร่วมมือจาก คณะกรรมการโรงเรียน คณะครู และคณะผู้ปกครองนักเรียน ได้ร่วมกันจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อหาเงินมาพัฒนาและปรับปรุงโรงเรียน
ให้ดีขึ้น โดยได้รับเงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๐,๐๐๐ บาท และโรงเรียนได้นำเงินไปทำการต่อเติมอาคารเรียน แบบ สปช.๑๐๕/๒๕๒๙ จำนวน ๑ ห้องเรียน
ปีการศึกษา ๒๕๔๗ ได้รับงบประมาณจากทางราชการ จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท
เพื่อเปลี่ยนหลังคาอาคารอนุบาลจากสังกะสีเป็นกระเบื้องลอนคู่
ปีการศึกษา ๒๕๔๙ ได้รับบริจาคเงินเพื่อปรับปรุงอาคารอเนกประสงค์จากคุณสุรพล ทวีเลิศนิธิ จำนวน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และคณะครู ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท รวมจำนวนทั้งสิ้น ๒๗๐,๐๐๐ บาท
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ โรงเรียนเทศบาล ๑ (ทุ่งฟ้าบดราษฎร์บำรุง) ได้โอนสังกัดจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต ๔ ไปสังกัดเทศบาลตำบลบ้านกลาง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้โอนบุคลากรไปสังกัดเทศบาลตำบล จำนวน
๕ คน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและตามแผนการกระจายอำนาจ ปี ๒๕๔๒ ที่ได้กำหนดไว้
ปีการศึกษา ๒๕๕๐ โรงเรียนได้รับบริจาคเงินเพื่อจัดสร้างห้องสมุดและศูนย์วัฒนธรรมของโรงเรียน (อาคารพรฉัตร) จาก คุณสุรพล ทวีเลิศนิธิ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และ คณะครู ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท
ปีงบประมาณ ๒๕๕๑ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์และอาคารเรียน อาคารประกอบ ดังต่อไปนี้
-
ห้องคอมพิวเตอร์ จำนวน ๒๐ เครื่อง งบประมาณ ๖๖๗,๐๐๐ บาท
-
ห้องปฏิบัติการทางภาษา ๑ ห้อง งบประมาณ ๔๗๒,๐๐๐ บาท
-
ห้องโสตทัศนูปกรณ์ จำนวน ๑ ห้อง งบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท
-
ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จำนวน ๑ ห้อง งบประมาณ ๓๑๖,๐๐๐ บาท
-
ส้วม แบบ สน.ศท ๑๐ จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ ๓๑๓,๐๐๐ บาท
-
อาคารเรียนอนุบาลแบบ สน.ศท.อนุบาล ๘ จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ ๕,๒๖๖,๘๐๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๕๑ โรงเรียนได้ทำการเปิดขยายชั้นเรียนระดับมัธยมศึกษาต้อนต้นเป็นปีแรก โดยเปิดชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๑ ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น ๓๓ คน
ปีงบประมาณ ๒๕๕๒ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรอาคารเรียนแบบ สน. ศท. ๔/๑๒ จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ ๘,๒๕๐,๐๐๐ บาท
ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรอาคารอเนกประสงค์ แบบชั้นลอย จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ ๗,๗๔๓,๐๐๐ บาท
ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรอาคารเรียนแบบ สน.ศท.๔/๑๒ จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ 9,667,000 บาท
ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ โรงเรียนได้รับงบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดสรรอาคารห้องน้ำ / ห้อง แบบ สน.ศท.๑๐ จำนวน ๒ หลัง ๆ ละ ๓๓๖,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๗๗๒,๐๐๐ บาท
ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ โรงเรียนได้รับงบประมาณ จากเทศบาลตำบลบ้านกลาง จัดสรรรถยนต์โดยสาร (รถตู้) จำนวน ๑ คัน งบประมาณ ๑,๑๗๐,๐๐๐ บาท
ปีการศึกษา ๒๕๕๘ โรงเรียนได้เริ่มเปิดชั้นเรียนพิเศษ Mini English Program ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีนักเรียนเข้าเรียนจำนวน ๒๕ คน
ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ( ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ ) โรงเรียนได้รับงบประมาณจากเทศบาลตำบลบ้านกลาง ให้มาดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอาคารเรียนและอาคารประกอบ จำนวน ๖ รายการ รวมงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น ๑๘,๔๘๕,๐๐๐ บาท ดังนี้
๑) จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน ๔๖๐,๐๐๐ บาท
๒) จัดทำรั้วรอบด้านหลังโรงเรียน ยาว ๕๑๐ เมตร งบประมาณ ๑,๑๐๐,๐๐๐ บาท
๓) จัดทำถนนลาดยางกว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๑๒๐ เมตร หนา ๕ ซม. และถนนลาดยาง กว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๕๕ เมตร หนา ๕ ซม. งบประมาณ ๓,๐๗๐,๐๐๐ บาท
๔) สระว่ายน้ำพร้อมอาคารประกอบ งบประมาณ ๗,๗๓๔,๐๐๐ บาท
๕) โดมมุงหลังคาเชื่อมระหว่างอาคาร งบประมาณ ๕,๒๒๘,๐๐๐ บาท
๖) ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและขยายไฟฟ้าภายในบริเวณโรงเรียน งบประมาณ ๘๘๗,๐๐๐ บาท
ปัจจุบัน โรงเรียนเทศบาล ๑ (ทุ่งฟ้าบดราษฎร์บำรุง) เปิดทำการสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ ๑ - ๓ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๓ รวมทั้งหมด ๓๗ ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งสิ้น ๙๗๐ คน ครูประจำการ จำนวน ๓๒ คน ชาย ๔ คน หญิง ๒๘ คน ครูอัตราจ้าง ๒๖ คน ชาย ๗ คน หญิง ๑๙ คน บุคลากรสนับสนุนการสอน ๘ คน ชาย ๑ คน หญิง ๗ คน พนักงานขับรถ ชาย ๑ คน นักการภารโรง ชาย ๓ คน แม่บ้าน จำนวน ๒ คน พนักงานรักษาความปลอดภัย จำนวน ๒ คน รวมบุคลากรทั้งสิ้น ๗๔ คน โดยมี นายฤชากร ใจสันติ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถานศึกษา
|